วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ท่องเที่ยวย้อนรอยประวัติศาสตร์ตามคำขวัญ...จังหวัด‘กาฬสินธุ์’

ท่องเที่ยวย้อนรอยประวัติศาสตร์ตามคำขวัญ...จังหวัด‘กาฬสินธุ์


จ.กาฬสินธุ์ เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยจะมีความเจริญด้านอารยธรรมที่เก่าแก่ เดิมทีเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติละว้า แต่ต่อมาได้มีการอพยพผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาส้รางบ้านเรือนบริเวณแก่งสำโรงและลำน้ำปาว

บทความนี้จะพาท่านไปท่องเที่ยวตามคำขวัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า ‘หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี’ เป็นคำขวัญใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2557

1. ‘หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง’ (วัดกลาง)

วัดกลาง คือ พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด สามัญ อยู่เลขที่ 47 ถ.กาฬสินธุ์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2387 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นวัดสังกัดในคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนที่ 7 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา เป็นวัดที่มีเฉพาะพื้นที่ตั้งวัด ไม่มีธรณีสงฆ์ หรือ กัลปนา โดยประดิษฐานพระพุทธสัมฤทธิ์นิรโรคันตราย หรือหลวงพ่อองค์ดำ

ภายในวัดจะมีพระอุโบสถที่สร้างเพิ่มเติมจากพระอุโบสถหลังเก่า เป็นทรงไทยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา บานประตูเป็นไม้แกะสลักพุทธประวัติ ส่วนหน้าต่างก็แกะสลักเป็นชาดกเรื่องต่างๆ ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสจะถมีทวารบาลปูนปั้น ภายในพระอุโบสถทำเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก บริเวณศาลาที่ใกล้กับพระอุโบสถเป็นประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้วยหน้าตักกว้าง 20 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นภาษาไทยโบราณ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าคูนาขาม พระชัยสุนทร(กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกมาแห่ขอฝนเสมอ

2. เมืองฟ้าแดดสงยาง...ที่‘อำเภอกมลาไสย’

อยู่ที่บ้านเสมา ต.หนองแปง จ.กาฬสินธุ์ เมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนมาเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมาเนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายกับใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ความยาวคันดินโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบ การอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวาราวดี ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏ ทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพเรื่องชาดก และพุทธประวัติเป็นจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามที่อยู่ภายในเมือง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนั้น มีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปภายในและนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์ที่อยู่บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อ 27 กันยายน 2479

3. วงเวียน‘โปงลางเลิศล้ำ’

วงเวียนโปงลาง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่ให้กำเนิดโปงลาง โดยศิลปินแห่งชาติ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ผู้ประดิษฐ์จากเกราะหรือกะลอสมัยโบราณมาประยุกต์ ทำเป็นไม้ 13 ท่อน ทำจากไม้มะหาด เรียงร้อยกันเป็นเครื่องตี ปัจจุบันโปงลางได้แพร่หลายไปทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศ ที่ที่คนไทยไปอาศัยอยู่และนำไปเผยแพร่ วงเวียนโปงลางสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงดนตรี เพลงลายเต้ยโขง กับลายลมพัดพร้าว ณ วิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533

4. วัฒนธรรมผู้ไทย...ที่‘โคกโก่ง’

หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่ง หมู่บ้านขนาดเล็กอยู่ที่เชิงเขามีชาวผู้ไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ ต.กุดหว้า จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดให้เป็นหมู่บ้านนำร่องในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวผู้ไท ซึ่งนักท่องเที่ยวมาพักแรมแบบโฮมสเตย์ได้ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีของชาวบ้าน อาทิเช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเหยา(การรักษาผู้ป่วย) ชมการแสดงศิลปะพื้นบ้าน รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง และเดินป่าชมธรรมชาติพรรณไม้แล้วพืชสมุนไพรท้องถิ่น ชมน้ำตกตาดสูง-ตาดยาว ตามเส้นทางเดินป่าภายในวนอุทยานภูผาวัว สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ผู้ใหญ่ขวัญชัยโทร. 087-232-6056

5. ‘ผ้าไหมแพรวา’...บ้านโพน

ผ้าไหมแพรวา กล่าวขานกันมาว่า “แพรวา ราชินีแห่งไหม” แพรวาหรือผ้าแพรวาเป็นผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมืองที่มีสีสันและลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท นิยมทอด้วยไหมทั้งผืน โดยปกติแล้ว หญิงสาวชาวภูไททอผ้าแพรวาเพื่อห่มเป็นสไบคลุมไหล่ หรือโพกศีรษะ จึงมักใช้ในโอกาส งานบุญ งานมงคล หรืองานประเพณีต่างๆ กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันได้จัดเป็น “สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน” ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของสมาชิกใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.คำม่วง อ.สมเด็จ อ.สหัสขันธ์ และอ.สามชัย เพื่อที่จะจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศิลปาชีพบ้านโพนนั่นเอง

6. ‘ผาเสวยภูพาน’

ผาเสวย อยู่บนเทือกเขาภูพาน ในเขตบ้านแก้งกะอาม ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร ผาเสวย เดิมทีชาวบ้านเรียกกันว่า “ผารังแร้ง” ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ บริเวณผาแห่งนี้ ในวโรกาสที่ทั้งสองพระองค์เสด็จมาเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาเสวย” มาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

7. เขื่อนเก็บน้ำ...‘มหาธารลำปาว’

เป็นเขื่อนดิน มีความสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร นับเป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2506 เพื่อกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ทำให้เป็นอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสองให้กลายเป็นอ่างเดียวกัน ซึ่งตัวอ่างน้ำจุน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน 5,960 ตารางกิโลเมตร ทางเข้าของเขื่อนแยกจากทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงกิโลเมตรที่ 10 ประมาณ 26 กิโลเมตรเขื่อนลำปาวสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำทางบก ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

8. ขุดคุ้ย‘ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี’...ที่ภูกุ้มข้าว

เป็นศูนย์วิจัยฟอสซิสไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว อยู่ที่ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดให้ชม นิทรรศการเรื่องราวของไดโนเสาร์ทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กรมทรัพยากรธรณี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ โทร. 04-387- 1014, 04-387-1394, 04-387-1613

อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่อื่นๆเข้ามาที่ http://travel.sanook.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น